Apps-intervention

A mobile app-based intervention for personalized diet goals

โมบายแอพฯเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารตามค่าเป้าหมายเฉพาะบุคคล – การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารเป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้ว่าบุคคลจะกำหนดแผนหรือเป้าหมายในการควบคุมปริมาณการบริโภคอาหารและสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณสารอาหารที่ขาด (หรือเกิน) ซึ่งส่งผลต่ออาการของโรคหรือภาวะสุขภาพในระยะยาว ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะทราบได้ว่า ในหนึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์เราขาดสารอาหารอะไร ในปริมาณเท่าไร บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้โมบายแอปพลิเคชัน “KinYooDee” บนแพลตฟอร์มกินอยู่ดี เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารตามค่าเป้าหมายเฉพาะบุคคล แอปพลิเคชันฯ จะติดต่อกับระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตารางข้อมูลเมนูอาหารไทยและสารอาหารมากกว่า 10,000 เมนู เมื่อผู้ใช้บันทึกข้อมูลเมนูอาหารที่บริโภคลงในแอพฯ อัลกอริทึมจะประมวลผลและแนะนำเมนูอาหารพร้อมรายละเอียดปริมาณสารอาหารที่จะได้รับ ปริมาณสะสม และค่าระยะห่างจากเป้าหมาย ในช่วงเวลาการแจ้งเตือนที่เหมาะสม และตามรายการสารอาหารที่ผู้ใช้กำหนด รวมทั้งตามค่าเป้าหมายความสมดุลของการบริโภค นั่นคือ ต้องการสมดุลภายใน 1 วัน หรือ สมดุลภายใน 1 สัปดาห์ ผลทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแสดงให้เห็นว่า แอปพลิเคชันฯ สามารถแจ้งเตือนและแนะนำเมนูอาหารได้ตามที่ออกแบบไว้ และมีข้อเสนอให้ปรับอัลกอริทึมโดยให้ลำดับความสำคัญต่อเมนูอาหารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งปรับปรุงความถูกต้องของสารอาหารในเมนูอาหาร คณะผู้วิจัยยังคงพัฒนาแอปพลิเคชันฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในโครงการส่งเสริมสุขภาพของบุคคลากรในองค์กร รวมทั้งประชาชนคนไทย ซึ่งผลการประเมินประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันฯ เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหาร จะถูกรายงานไว้ในงานวิจัยระยะถัดไป

Insomnia

นอนไม่หลับหรือหลับไม่มีคุณภาพ วิธีแก้ปัญหา?

หากพูดถึงการดูแลสุขภาพร่างกายที่ดีส่วนใหญ่มักพูดถึงการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นหลัก แต่อีกหนึ่งความสำคัญที่ไม่แพ้กันคือ การนอนหลับ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาการใช้ชีวิตในหนึ่งวัน เป็นการพักผ่อนที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูและซ่อมแซมระบบการทำงานของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งสมอง ความจำ การเผาผลาญ ภูมิคุ้มกัน การหายใจ รวมถึงสุขภาพจิต ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล ซึมเศร้า หลงลืม รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ง่าย เมื่อร่างกายได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ

ดังแสดงในภาพด้านล่าง วงจรการหลับ-ตื่น (Sleep-wake cycle) ถูกควบคุมโดยนาฬิกาชีวภาพ ซึ่งจะถูกกระตุ้นด้วยแแสง และในเวลากลางคืนที่ไม่มีแสงสว่างจะมีการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นวงจรการนอนหลับ โดยลดระดับความตื่นตัวและอุณหภูมิร่างกาย สำหรับวัยผู้ใหญ่ควรมีการนอนหลับ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ NREM (Non-rapid eye movement) ช่วงหลับปกติถึงหลับสนิท และระยะ REM (Rapid eye movement) ช่วงหลับฝัน

    1. NREM (Non-rapid eye movement) ช่วงที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของดวงตา เกิดขึ้น 75-80% ของระยะเวลานอนหลับ ตั้งแต่เริ่มหลับจนหลับสนิท แบ่งเป็น 3 ช่วง
      • N1: ช่วงที่เริ่มหลับ ประมาณ 5-10 นาทีแรก ของการนอนหลับ
      • N2: ช่วงที่เคลิ้มหลับ (Ligh sleep) เป็นช่วงที่ใช้เวลานานที่สุด การเต้นของหัวใจและอุณหภูมิร่างกายลดลง
      • N3: ช่วงที่หลับลึก (Slow wave sleep) เป็นช่วงที่ร่างกายอยู่ในภาวะพักผ่อน ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งเร้า และมีการหลั่ง Growth hormone ซึ่งสำคัญต่อการฟื้นฟูร่างกายและเสริมภูมิคุ้มกัน หากถูกปลุกในช่วงนี้จะมีอาการงัวเงีย และตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกไม่สดชื่น
    1. REM (Rapid-eye movement) ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของดวงตาและเกิดความฝัน เกิดขึ้น 20-25% ของระยะเวลานอนหลับ เป็นช่วงที่สมองทำงานใกล้เคียงกับตอนตื่น สำคัญต่อเรื่องความทรงจำ การเรียนรู้ และจินตนาการ(ฝัน)

ที่มา: https://www.informedhealth.org/what-is-normal-sleep.html

การนอนหลับจะเริ่มต้นจาก ระยะ NREM สลับกับ REM เป็นวงจรตลอดการนอนหลับ 4-6 รอบ รอบละ 80-120 นาที หรือประมาณ 90 นาทีโดยเฉลี่ย (ดังแสดงในภาพด้านล่าง) วงจรแรกของการนอนหลับจะมีระยะ REM สั้นและนานขึ้นในรอบถัด ๆ ไป นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงชอบฝันช่วงใกล้เวลาตื่น ในความจริงแล้วร่างกายมีการฝันทุกคืน ฝันได้ทุกช่วงของการนอนหลับโดยเฉพาะในช่วง REM เป็นกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้และความจำ เพียงแต่ว่าเราจำได้บ้างไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าตื่นขึ้นมาในช่วงที่มีการฝันหรือไม่

ที่มา: https://www.sleepfoundation.org/stages-of-sleep

การนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี คุณภาพของการนอนหลับต้องควบคู่ทั้งระยะเวลาการนอนและประสิทธิภาพของการหลับ ทำให้ตื่นด้วยความรู้สึกสดชื่นเต็มอิ่ม และไม่ง่วงระหว่างวัน มีช่วงเวลาหลับลึก (Deep sleep) 13-23% หรือประมาณ 55-97 นาที แต่ปัญหาที่พบได้บ่อยคือ ภาวะนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ซึ่งมักจะรบกวนการนอนหลับและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่แล้วมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ ความเครียด วิตกกังวล การออกกำลังกายอย่างหนัก การรับประทานอาหารที่อิ่มเกินไป การใช้สารกระตุ้น รวมถึงโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เช่น โรคทางจิตเวช โรคอ้วน รวมทั้งโรคทางเดินหายใจที่ทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับ การนอนกรน และการนอนละเมอ ซึ่งโรคเหล่านี้ควรได้รับการตรวจการนอนหลับ (Sleep test) เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ในด้านอาหารและโภชนาการ เราควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมต่อการใช้งานของร่างกาย โดยเน้นสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการนอนหลับหรือกระตุ้นการสร้างเมลาโทนิน เช่น ทริปโตเฟน แอล-ธีอะนีน เซโรโทนิน เหล็ก และแมกนีเซียม พบได้มากใน นม ไข่ ถั่ว ข้าวโอ๊ต กล้วย กีวี่ เชอร์รี่ และปลา นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน นิโคติน สารเหล่านี้นอกจากจะรบกวนระยะเวลาการนอนแล้วยังทำให้คุณภาพการนอนหลับลดลงด้วย และเป็นข้อสังเกตจากงานวิจัยว่า แอลกอฮอล์ (ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานการดื่ม) สามารถช่วยทำให้หลับได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่จะลดคุณภาพของการนอนหลับลงด้วย และหากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปเป็นประจำอาจเป็นภาวะติดแอลกอฮอล์เรื้อรังได้

จากการรวบรวมบทความทางวิชาการ เทคนิคที่จะช่วยแก้ปัญหาภาวะการนอนไม่หลับ และเพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ โดยใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถสรุปได้ดังนี้

    • ตั้งเวลาตื่นนอน เวลาเดียวกันทุกวัน รวมทั้งวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุด
    • ออกไปเดินสัมผัสแสงแดดตอนเช้า
    • เริ่มทำงานในช่วงเช้าของวัน
    • เพิ่มกิจกรรมทางกายระหว่างวัน
    • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังเวลา 14:00
    • ถ้าต้องการพักสายตาในช่วงเวลากลางวัน ควรพักก่อนเวลา 15:00 และไม่ควรเกิน 30 นาที
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใกล้เวลานอน
    • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือควรอาบน้ำโดยปรับอุณหูมิน้ำให้ลดลงกว่าปกติ ก่อนเวลาเข้านอน
    • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ 1-2 ชั่วโมง ก่อนเวลาเข้านอน
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารว่างก่อนนอน
    • ดื่มนมอุ่น ๆ หรือชาคาโมมายล์ ซึ่งมีสารอะพิจีนีน มีฤทธิ์ช่วยคลายวิตกกังวล ช่วยทำให้สมองผ่อนคลาย ส่งผลให้การนอนหลับดีขึ้น
    • นอนในห้องที่มืด ไม่ควรมีแสงไฟจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
    • ปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้อยู่ระหว่าง 22 – 23 องศาเซลเซียส

สังเกตด้วยว่า การใช้เมลาโทนินเพื่อช่วยการนอนหลับ ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ยังไม่อนุญาตให้ใช้เมลาโทนินเป็นส่วนประกอบในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ในระยะยาว และจัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายยา แม้ว่าบทความจากงานวิจัยบางส่วนจะระบุว่า เมลาโทนินสามารถช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้นจริง แต่ผลที่ได้รับยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ซึ่งอาจช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้นเล็กน้อย หรืออาจจะช่วยไม่ได้เลย ในทางการแพทย์ ยังไม่แนะนำให้ใช้เมลาโทนินในการรักษาภาวะการนอนไม่หลับ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ นอกจากนี้ นมผึ้ง (Royal jelly) ยังเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เชื่อว่า สามารถช่วยในการรักษาภาวะการนอนไม่หลับได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันแน่ชัดถึงสรรพคุณดังกล่าว และอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพเมื่อรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

กล่าวโดยสรุป การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่สำคัญต่อการฟื้นฟูระบบร่างกาย การนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพจะช่วยทำให้ร่างกายตื่นด้วยความรู้สึกสดชื่นเต็มอิ่ม การมีวินัยต่อสุขอนามัยในการนอนหลับเป็นการแก้ปัญหาหลักสำหรับอาการนอนไม่หลับ หากยังมีภาวะนอนไม่หลับหรือหลับไม่มีคุณภาพ ควรไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การนอนหลับเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง การทราบสาเหตุที่ส่งผลต่อภาวะการนอนไม่หลับตั้งแต่ระยะเนิ่น ๆ จะสามารถแก้ไขปัจจัยรบกวนและรักษาอาการได้เร็วขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ไม่เพียงแต่เพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย

ที่มารูป : Forbes

Thrombosis

การถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยหลักของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombophilia) เป็นการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่พบได้บ่อย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประชากรทั่วโลก ถือว่าเป็นภัยเงียบ เนื่องจากในบางรายไม่มีการแสดงอาการ หรือมีอาการที่ไม่ชัดเจน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นอันดับสาม รองจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคลิ่มเลือดอุดตันเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุจากพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบหลอดเลือดและการไหลเวียน ตามทฤษฎีของ Virchow’s triad สาเหตุที่ทำให้การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่

    1. การไหลเวียนเลือดช้า (Stasis of blood) เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
    2. เซลล์บุหลอดเลือดถูกทำลาย (Endothilial injury) เช่น การบาดเจ็บ
    3. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Thrombophilia) เช่น จากพันธุกรรรม

การเกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่มาจากปัจจัยทางพันธุกรรม มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

    • การกลายพันธุ์ของยีน F5 (Factor V leiden) และยีน F2 พบได้ในประชากร 1 – 5% โดยยีน F5 จะสร้าง Coaglation Factor V และยีน F2 สร้าง Coaglation Factor II ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการแข็งตัวของเลือด
    • การกลายพันธุ์ของยีน Prothrombin พบได้ 1 – 5% ของประชากร ผู้ที่มีความผิดปกติดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก และมีความเสี่ยงในการแท้งบุตร
    • ภาวะบกพร่องโปรตีน C และ S สารต้านการแข็งตัวตามธรรมชาติทำหน้าที่ในการสลายการแข็งตัวของเลือด พบประมาณ 1% ของประชากร
    • ภาวะบกพร่อง Antithrombin สารต้านการทำงานของเอนไซม์ในกระบวนการการจับลิ่มของเลือด พบน้อยมากในประชากร 1 ต่อ 500 คน

นอกจากนี้ ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการแอนติฟอสโฟลิปิด (APS) โรคตับอักเสบ HIV โรคอ้วน มะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน การสูบบุรี่จัด พฤติกรรมการนั่งหรือนอนอยู่กับที่เป็นเวลานาน หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ตำแหน่งที่พบการอุดตันของลิ่มเลือดได้บ่อย ได้แก่

    • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) สามารถเกิดได้ทุกส่วนในร่างกาย แต่จะพบมากที่บริเวณขา ซึ่งจะมีอาการขาโต บวม กดเจ็บ หรือเดินแล้วมีอาการปวดบวม หากรักษาไม่ทันลิ่มเลือดที่ขาอาจหลุดลอยไปอุดที่ปอด จะทำให้เกิดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันในปอดและเสียชีวิตได้
    • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism: PE) เป็นภาวะเสี่ยงที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้สูงถึง 12% ภายในหนึ่งเดือน จะมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตตก SpO2 ลดต่ำลง และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วยในกรณีเฉียบพลัน

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านโภชนาการก็เป็นสิ่งสำคัญ การบริโภคอย่างไม่สมดุลและเกินความจำเป็น ส่งผลทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ตามมา แนวทางการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันมักจะมุ่งเน้นไปที่กลไกการสลายลิ่มเลือด การให้ยาละลายลิ่มเลือด นอกจากนี้ การรับประทานผักผลไม้ อาหารไขมันต่ำ รวมถึงพริก หอม และกระเทียม รวมทั้งการเพิ่มปริมาณไขมันดี HDL ในร่างกาย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้เช่นกัน

โดยสรุป ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย พบมากในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน การป้องกันอาจไม่สามารถทำได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี ไม่ให้มีโรคประจำตัว เลือกรับประทานอาหารจากแหล่งไขมันดี หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด ยาคุมกำเนิด ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้ง การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติในร่างกาย การตรวจคัดกรองและการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยลดการเจ็บป่วยและป้องกันการเสียชีวิตได้

ที่มารูป : michiganmedicine

KinYooDee Well-Being Index

KinYooDee Well-Being Index

ดัชนีกินอยู่ดี – ข้อความต่อไปนี้ ข้อความใดที่ตรงกับความรู้สึกของท่านมากที่สุด ในช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

    • 5  ตลอดเวลา (All of the time)
    • 4  ส่วนใหญ่ของเวลา (Most of the time)
    • 3  มากกว่าครึ่งหนึ่งของเวลา (More than half the time)
    • 2  น้อกว่าครึ่งหนึ่งของเวลา (Less than half the time)
    • 1  บางครั้ง (Some of the time)
    • 0  ไม่เคย (At no time)
    1. บริโภคอาหารเพียงพอ และใส่ใจคุณค่าของสารอาหารที่ได้รับอย่างเหมาะสม ในแต่ละวัน
    2. แสวงหากิจกรรมทางกาย ในทุกครั้งถ้ามีโอกาส เช่น เดิน เคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน
    3. รู้สึกแอคทีฟ (Active) และมีพลังในการทำงาน หรือทำกิจกรรมในแต่ละวัน
    4. ได้พักผ่อนเพียงพอ และตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่น
    5. ทำกิจกรรมในแต่ละวัน ที่มีความน่าสนใจ ได้เรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์
    6. มีภาวะจิตใจที่สงบ ใจเย็นและมีสติในการดำเนินกิจกรรมในทุก ๆ วัน
    7. มีสุขภาวะทางการเงินเพียงพอกับรายจ่ายตามสภาพความเป็นอยู่ของท่านเอง โดยปราศจากความกังวล หรือความเครียด
    8. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปราศจากมลภาวะในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
    9. มีความสัมพันธ์ที่ดี เข้ากันได้ดีกับคนในครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงาน
    10. สมดุล Work-life balance สุขภาพกายและใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

*ดัดแปลงจาก ดัชนีความเป็นอยู่ดี WHO-5 Well-Being Index (1998)

Parkinson

พาร์กินสัน ความเสื่อมทางสมองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในผู้สูงอายุ โภชนบำบัดและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

อาการสั่นเกร็ง ลักษณะเด่นของโรคพาร์กินสันที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทพบได้บ่อยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนประชากรผู้สูงอายุ และเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองฯ ที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง รองจากโรคอัลไซเมอร์ จากข้อมูลปี 2553 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันราว 60,000 คน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากขึ้นตามประชากรผู้สูงอายุ สถิติล่าสุดพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน 3% ของประชากรผู้สูงอายุ หรือประมาณ 360,000 คน จาก 12 ล้านคนในปัจจุบัน (ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาฯ 2565)

พาร์กินสัน (Parkinson) เป็นโรคทางสมองที่เกิดจากการลดการหลั่งสารสื่อประสาท “โดพามีน” ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้มีอาการสั่น แขนขาเกร็ง ก้าวไม่ออก เสียการทรงตัว เคลื่อนไหวร่างกายช้า พูดเสียงเบา เคี้ยวกลืนลำบาก และท้องผูก การรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันเป็นแบบประคับประคอง ยังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้

การตรวจคัดกรองโรคพาร์กินสันเบื้องต้น สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น โดยใช้แบบประเมินของ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ (2565) จำนวน 11 ข้อ

    1. มือหรือขาเคยมีอาการสั่น
    2. ลุกขึ้นจากเก้าอี้ลำบาก
    3. เดินก้าวเท้าสั้น ๆ และเดินซอยเท้าถี่
    4. เวลาเดิน แขนแกว่งน้อยลง
    5. หลังคู้งอ เวลาเดิน
    6. หมุนตัวกลับเวลาเดินได้ลำบาก
    7. เคยมีคนบอกว่าเสียงเบากว่าเมื่อก่อน
    8. เวลานอนพลิกตัวได้ลำบาก
    9. เขียนหนังสือช้าลง หรือเล็กลงกว่าเดิม
    10. เมื่อไม่นานนี้ ทำอะไรช้าลงกว่าเดิม เช่น อาบน้ำ แต่งตัว หวีผม
    11. รู้สึกว่า กลัดกระดุมหรือเปิดฝาขวดได้ลำบากกว่าเดิม

หากประเมินอาการได้มากกว่า 5 ข้อขึ้นไป ควรพบแพทย์ และหากมีอาการน้อยกว่า 5 ข้อ แนะนำให้ตรวจเช็คอาการเป็นระยะ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นพาร์กินสัน นอกจากนี้ สังเกตด้วยว่า โรคพาร์กินสัน ยังแสดงอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว อาทิเช่น คิดช้าลง ความจำไม่ดี ซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท นอนละเมอออกท่าทาง ท้องผูก จมูกดมกลิ่นไม่ค่อยหรือได้กลิ่นลดลง

โรคพาร์กินสัน ยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แน่ชัด ปัจจัยส่วนใหญ่มาจาก อายุ เพศ (เพศชายมีโอกาสเกิดโรคฯ มากกว่าเพศหญิง 1.5 เท่า) มลพิษทางสิ่งแวดล้อม โรคหลอดเลือดสมอง ประวัติการบาดเจ็บทางสมอง และร้อยละ 10-15 มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม (โดยจะเริ่มมีอาการก่อน อายุ 50 ปี) ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม มักจะพบการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งของยีน อาทิเช่น ยีน AGT5 PARK7 LRRK2 และ GBA และหากมีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ควรเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ปัญหาที่มักพบในผู้ป่วยพาร์กินสันคือ ภาวะโภชนาการที่เป็นเหตุมาจากอายุและอาการของโรค โดยแบ่งออกเป็น 5 แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่พบได้บ่อย ได้แก่

    • ปัญหาทุพโภชนาการ: ด้วยอายุและอาการของโรครบกวนการกินและการอยู่ของผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารที่เพียงพอครบ 5 หมู่ และติดตามน้ำหนักตัวเป็นระยะ ให้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • ปัญหากลืนลำบาก: พบร้อยละ 60-80 สาเหตุจากการทำงานที่ผิดปกติร่วมกันกับระบบทางเดินอาหาร เสี่ยงต่อการสำลักได้ง่าย ควรปรับอาหารให้มีความข้นหนืดตามความสามารถในการกลืน ไม่เหลวหรือแข็งเกินไป
    • ปัญหาท้องผูก: พบร้อยละ 50-80 สาเหตุจากลำไส้บิดตัวลดลง ทำให้อาหารค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน แนะนำให้เพิ่มใยอาหารจากผักผลไม้ หรือไฟเบอร์ 30-35 กรัม และดื่มน้ำ 1.5 ลิตร ต่อวัน รวมทั้ง ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของระบบทางเดินอาหาร
    • ปัญหาคลื่นไส้ อาเจียน: อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นจากยา หากมีอาการหลังทานยา ไม่ควรทานยาในมื้ออาหารหรือหลังทานอาหารทันที
    • การเพิ่มประสิทธิภาพของยา: ยาลีโวโดปา (Levodopa) เป็นยาหลักในการโรครักษาพาร์กินสัน ซึ่งมีการดูดซึมที่ลำไส้เล็กผ่านวิธีเดียวกับการดูดซึมโปรตีน การทานยาในเวลาเดียวกับทานโปรตีน จะลดการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย ยาลีโวโดปา จะดูดซึมมากในขณะที่ท้องว่าง ส่วนโปรตีนยังคงเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาก่อนมื้ออาหาร อย่างน้อย 30 นาที โดยลดปริมาณโปรตีนในมื้อเช้าและมื้อเที่ยง และเพิ่มสัดส่วนในมื้อเย็น เพื่อให้ปริมาณโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย (12-15%)

อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่อาจเพิ่มความเสี่ยง หรือกระตุ้นความรุนแรงในผู้ป่วยพาร์กินสันได้ เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะชีสและโยเกิร์ต อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง อาหารแปรรูป เนื่องจากมีสารอนุมูลอิสระ กระตุ้นการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน ทำให้เซลล์ถูกทำลายได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันมีสารอาหารอีกหลายชนิดที่ป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เช่น Phytonutrients (Carotenoid และ Beta-carotene) จากผักผลไม้ Genistein (ถั่วเหลือง) Levodopa (ถั่วฟาวา) โอเมก้า 3 จากสัตว์เนื้อขาว ไขมันต่ำ เช่น ปลา หอยนางรม Catechin และ EGCG (ชา) Resveratrol ที่ผิวองุ่นหรือไวน์แดง รวมทั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อย

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารแบบเมดิเตอเรเนียน (Mediteranean diet) ยังช่วยสนับสนุนการชะลอความเสื่อมของระบบประสาทลง โดยเน้นรับประทานอาหารจากแหล่งพืชผักผลไม้ โปรตีนเนื้อขาว ไขมันไม่อิ่มตัวจากน้ำมันมะกอก และไวน์แดง รวมทั้ง เพิ่มการขยับร่างกายอย่างง่าย เช่น แกว่งแขนแกว่งเท้า การเดิน ปั่นจักรยาน รำไทเก๊ก รำมวยจีน เต้นลีลาศในจังหวะชะชะช่าและแทงโก้ ฯลฯ ส่วนสารอาหารที่มักพบการบกพร่องได้บ่อย ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินดี เหล็ก สังกะสี และแคลเซียม ซึ่งแนะนำให้บริโภคจากอาหารโดยตรง มากกว่าการรับประทานจากอาหารเสริมเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการดูดซึมยาได้ หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

โดยสรุป การรักษาอาการของโรคพาร์กินสัน จะใช้ยาเป็นหลักควบคู่กับโภชนาการที่เหมาะสม สิ่งที่สำคัญคือ การหมั่นสังเกตอาการ ไม่ลืมทานยาหรือหยุดยาด้วยเอง รวมทั้ง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงหรือความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรได้รับพลังงานและโปรตีนที่เพียงพอต่อร่างกาย ระวังช่วงเวลามื้ออาหารกับการทานโปรตีน เพิ่มกิจกรรมทางกายเพื่อลดอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ยังไม่มีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดได้ แต่การตรวจคัดกรองความเสี่ยงและการวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ การรักษาและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น

ที่มารูป : danceflavors

Stress-o-meter

New feature update: Stress-o-meter ระบบประเมินระดับความเครียด (Stress level) โดยวัดจาก Body movement and typing rhythms (only from smartphone) และประเมินโดยระบบ AI สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการประเมินระดับความเครียดของพนักงานในองค์กร เพื่อหาแนวทางการแก้ไขและควบคุมความเครียดจากการทำงาน

Scheme (100): Stress level อยู่ในระดับน้อย ถึง ปานกลาง และทำกิจกรรมลดความเครียด อย่างน้อยวันละ 1 กิจกรรม

Guideline: ความเครียดสะสมก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ลดความเครียดด้วยการนั่งสมาธิ การไปท่องเที่ยวพักผ่อน ดูหนังฟังเพลง การเล่นกีฬา หรือการไปสังสรรค์กับเพื่อน ฯลฯ

Abnormal REE

ความผิดปกติของระบบเผาผลาญพลังงานขณะพัก ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ง่าย

ในคนที่มีการใช้พลังงานขณะพัก (Resting Energy Expenditure: REE) ต่ำ จะทำให้น้ำหนักตัวมากขึ้นหรืออ้วนได้ง่ายกว่าคนปกติ หรือที่รู้จักกันว่า “ระบบเผาผลาญเสื่อม” สาเหตุหลักมาจากความไม่สมดุลของการบริโภคและการใช้พลังงาน รวมทั้งองค์ประกอบสัดส่วนร่างกาย อาทิเช่น มวลกล้ามเนื้อ และมวลไขมัน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ REE เปลี่ยนแปลงได้

การเผาผลาญพลังงานขณะพัก เป็นส่วนการใช้พลังงานมากที่สุดจากพลังงานทั้งหมดในหนึ่งวัน ที่ขับเคลื่อนการทำงานทั้งหมดของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง ซี่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน

    1. Resting Energy Expenditure (REE) การเผาผลาญพลังงานขณะพัก หรือ การเผาผลาญพลังงานพื้นฐาน (Basal Metabolic Rate: BMR) เป็นส่วนหลักของการใช้พลังงานทั้งหมด คิดเป็น 60-70% สำหรับการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ องค์ประกอบร่างกาย และพันธุกรรม
    2. Physical Activity (PA) การเผาผลาญพลังงานที่เกิดจากกิจกรรมทางกาย คิดเป็น 30% ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจกรรม
    3. Thermic Effect of Food (TEF) การเผาผลาญพลังงานที่เกี่ยวข้องกับอาหาร (ระบบทางเดินอาหาร) รวมถึงการย่อยและการดูดซึม คิดเป็น 10% ของพลังงานทั้งหมด โดยใช้ในการเผาผลาญและสร้างพลังงานจาก 3 สารอาหารหลัก (โปรตีน 20-30% คาร์โบไฮเดรต 5-10% และไขมัน 0-3%) ช่วงที่ร่างกายได้รับอาหารจะมีการเผาผลาญสูงขึ้น เช่นเดียวกับช่วงที่อดอาหารก็จะมีการเผาผลาญน้อยลง

พื้นฐานการใช้พลังงานของร่างกายดูจาก BMR หรือ REE เป็นหลัก โดยสามารถวัดได้จากการใช้ออกซิเจนและการสร้างคาร์บอนไดอออกไซด์ของร่างกาย หรือคำนวณได้จากสูตร Harris-Benedict (1918) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเพศ น้ำหนักตัว ส่วนสูง และอายุ โดยคนส่วนใหญ่จะมีค่า BMR อยู่ระหว่าง 1,000 – 2,000

Female : BMR = 665.1 + (9.563 x น้ำหนักตัวเป็น กก.) + (1.85 x ส่วนสูงเป็น ซม.) – (4.676 x อายุ)

Male : BMR = 66.47 + (13.75 x น้ำหนักตัวเป็น กก.) + (5.003 x ส่วนสูงเป็น ซม.) – (6.755 x อายุ)

ค่า BMR หรือ REE บ่งบอกถึงพลังงานต่ำสุด หรือพลังงานที่เซลล์ร่างกายนำไปใช้งานและอยู่รอดได้ในหนึ่งวัน นั่นคือ พลังงานที่ใช้ในการหายใจและการใช้งานต่าง ๆ ของเซลล์ในร่างกาย รวมทั้ง ในขณะนอนหลับร่างกายก็มีการใช้พลังงานด้วยเช่นกัน

ระบบเผาผลาญเสื่อม (Abnormal REE) คือ ความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานขณะพัก หรือการใช้พลังงานพื้นฐานต่ำ เกิดจากความไม่สมดุลของการบริโภคและการใช้พลังงาน การบริโภคเกินกว่าที่ร่างกายนำไปใช้ได้ เกิดการสะสมในรูปของไขมัน ทำให้อ้วนได้ง่าย และทำให้ REE ลดลง ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของร่างกายเพื่อปกป้องการสูญเสียพลังงานที่มากเกินไป แต่ไม่ส่งผลดีมากนักเพราะเป็นการทำลายระบบการเผาผลาญนั่นเอง

การเผาผลาญพลังงานขณะพักที่ลดลง สามารถกระตุ้นในกลับมาสูงขึ้นได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปรับสมดุลการบริโภคและการใช้พลังงาน องค์ประกอบสัดส่วนร่างกายหลักที่กระตุ้นการเผาผลาญ คือ มวลกล้ามเนื้อ (Muscle หรือ lean mass) ยิ่งร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อเยอะก็ยิ่งมีการใช้พลังงานขณะพักสูง สังเกตด้วยว่า การอดอาหารสามารถทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ แต่การเผาผลาญพลังงานก็จะลดตามไปด้วย ส่วนการลดน้ำหนักที่เน้นทานผักผลไม้ น้ำหนักที่หายไปคือ มวลกล้ามเนื้อ ทำให้การเผาผลาญพลังงานลดลงเช่นกัน ดังนั้น การกระตุ้นระบบเผาผลาญขณะพักที่มีประสิทธิภาพคือ การควบคุมสมดุลพลังงานและสารอาหารหลัก และออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อกระตุ้นการเผาผลาญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูการเผาผลาญขณะพักที่ผิดปกติไป

จากการศึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่มีความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานขณะพัก ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคอ้วน ในระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยลดปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวันลง 500 kcal และเสริมโปรตีนหลังการออกกำลังกายระดับหนักอย่างน้อย 30 นาที 4-5 ครั้ง/สัปดาห์ (เสริมโปรตีนครั้งละ 20-25 กรัม แต่ไม่เกิน 1.6 กรัม x น้ำหนักตัว ต่อวัน) เพื่อสร้างมวลกล้ามเนื้อ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีค่าการเผาผลาญพลังงานขณะพัก (REE) สูงขึ้น และมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยสรุป ความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานขณะพัก (REE) ที่ลดต่ำลง สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมที่สร้างความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่บริโภคและพลังงานที่ใช้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการอดอาหาร ความเครียด ฮอร์โมนที่ไม่สดุล การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ และพันธุกรรม ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่ลดการเผาผลาญพลังงานพื้นฐาน ดังนั้น การกระตุ้นระบบเผาผลาญพลังงานให้สม่ำเสมอจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนที่พฤติกรรมการบริโภค และเน้นการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและลดมวลไขมัน ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อย

ที่มารูป : healthline

G6PD deficiency

แพ้ถั่วปากอ้า G6PD โรคทางพันธุกรรมที่แอบแฝงอยู่ในเพศชาย และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

G6PD deficiency เป็นภาวะพร่องเอนไซม์ที่พบได้บ่อยที่สุดในโลก พบในประชากร 400 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาเหตุหลักจากการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งปัจจุบันมีการกลายพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด ส่วนใหญ่ไม่มีอาการตลอดชีวิต สำหรับประชากรชาวไทย ร้อยละ 12 พบในเพศชาย และร้อยละ 2 พบในเพศหญิง

G6PD เป็นเอนไซม์ที่มีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย และเป็นเอนไซม์หลักในเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนกลูโคส-6-ฟอสเฟต ให้เป็น 6-ฟอสโฟกลูโคโนแลกโตน และเปลี่ยนฟอสเฟต NADP ให้เป็น NADPH จากนั้น NADPH จะเปลี่ยนกลูต้าไธโอน ให้อยู่ในรูปรีดิวซ์ ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่เป็นพิษต่อเซลล์ และป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เนื่องจากในเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่มีไมโทคอนเดรีย จึงทำให้ไม่สามารถสร้าง NADPH ด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เอ็นไซม์ G6PD จึงมีความสำคัญกับเซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นอย่างมาก

ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD (G6PD deficiency) ทำให้มี NADPH ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนกลูต้าไธโอนให้อยู่ในรูปที่ใช้งานได้ เรียกว่า ภาวะ Oxidative stress ทำให้ไม่สามารถกำจัดสารอนุมูลอิสระที่จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ถ้ามีความรุนแรงมากจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้ไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของเนื้อเยื่อในร่างกายได้ทัน ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD จะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ปัสสาวะสีน้ำตาล ซีด และอาจมีอาการโลหิตจาง หรือมีอาการมากจนไตวายเฉียบพลันและทำให้เสียชีวิตได้  โดยปัจจัยกระตุ้นที่เป็นอันตรายต่อเม็ดเลือดแดงที่พบได้บ่อย คือ

    • ยารักษาโรคบางชนิด ยากลุ่มต้านการอักเสบ บรรเทาปวด (NSAIDs) ยา Aspirin ยาโรคหัวใจ ยามาเลเรีย (Primaquine และ Tafenoquine) ยาซัลฟา (Sulfa)
    • อาหาร ถั่วปากอ้าทั้งสุกและดิบ อาหารที่ “อาจ” มีผลต่อเม็ดเลือดแดงได้ เช่น บลูเบอร์รี่ ไวน์แดง พืชตระกูลถั่วที่เป็นฝัก (ถั่วเหลือง ถั่วเขียว) มะรุม โทนิค (มีส่วนผสมของสารควินินที่เป็นยารักษามาลาเรีย) โซดาขิง (Ginger ale) ซัลไฟต์ (วัตถุเจือปนอาหาร) สีผสมอาหาร (สีส้มแดง)
    • สารระเหยเพื่อช่วยดับกลิ่น (สารเคมีที่มีกลิ่น) และเมนทอล (Menthol) เช่น ลูกเหม็น การบูร พิมเสน
    • ภาวะการติดเชื้อต่าง ๆ (แบคทีเรีย ไวรัส รา) เช่น โรคหวัด/ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ มาลาเรีย

G6PD deficiency เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติบนโครโมโซมเพศ X พบได้บ่อยในเพศชาย (XY) ส่วนเพศหญิง (XX) ส่วนใหญ่จะเป็นพาหะ โดยปกติ ผู้ป่วยพร่องเอนไซม์ G6PD มักไม่แสดงอาการใด ๆ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่เซลล์เม็ดเลือดแดงจะแตกได้ง่ายเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น (ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น)

การตรวจและการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ

    • การตรวจยีนพันธุกรรม (DNA test) ตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน G6PD ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือผลิตเอนไซม์G6PD สังเกตด้วยว่า การตรวจยีนพันธุกรรม หรือตรวจดีเอ็นเอ ไม่สามารถวัดระดับเอนไซม์ G6PD ว่ามีระดับสูงหรือต่ำ
    • Fluorescent spot test (FST) การทดสอบการเรืองแสง เป็นการทดสอบในโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากเป็นวิธีทดสอบที่ง่าย รวดเร็วและราคาไม่แพง
    • ชุดตรวจแบบรวดเร็ว Rapid test เช่น BionaxNow® และ CareStart® G6PD แปลผลค่อนข้างยาก
    • Biosensor เป็นวิธีใหม่ที่ตรวจระดับเอ็นไซม์ G6PD แบบเชิงปริมาณ เช่น SD Biosensor เป็นวิธีที่สามารถใช้เลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว หรือจากหลอดเลือดดำ ทราบผลตรวจภายใน 1-2 นาที
Gender <4.0 IU/gHb 4.0-6.0 IU/gHb >6.0 IU/gHb
Male Deficiency Normal Normal
Female Deficiency Deficiency Normal

องค์การอนามัยโลกแบ่งกลุ่มระดับการพร่องเอ็นไซม์ G6PD ออกเป็น 5 กลุ่ม

Classification % of normal G6PD activity Label
Class I < 10% +โลหิตจางเรื้อรัง รุนแรงมาก
Class II < 10% รุนแรง
Class III 10-60% ปานกลาง
Class IV 60-150% น้อยมาก/ปกติ
Class V Increase enzyme (มากกว่าปกติ 2 เท่า) ปกติ

ปัจจุบันเริ่มมีการตรวจเอนไซม์ G6PD ในทารกมากขึ้น โดยเฉพาะในทารกที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ภายใน 24-72 ชั่วโมง หลังคลอด) อาการทางคลินิกเบื้องต้น เช่น โรคดีซ่านในทารกแรกเกิด โรคโลหิตจาง เม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน กรณีผู้ใหญ่ที่ไม่ทราบมาก่อน หรือสงสัยว่ามีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD หรือไม่ สามารถสังเกตอาการได้โดยดูจาก อาการซีด รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีไข้ หลังจากได้รับสิ่งกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีอาการปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลดำหรือสีโคล่า (ซึ่งเป็นสีของฮีโมโกลบินที่ได้จากเม็ดเลือดแดงที่แตกในหลอดเลือดและถูกขับออกมาทางปัสสาวะ) ควรรีบพบแพทย์

ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ไม่มีวิธีการรักษาที่หายขาดได้ เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ไม่ใช่โรครุนแรงขึ้นอยู่กับกลุ่ม (Class) และความรุนแรงของโรค สามารถป้องกันการเกิดอาการได้จากการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา สารเคมี รวมทั้ง สามารถรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อช่วยลดอาการของโรคได้ อาทิเช่น ผักและผลไม้หลากสี เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี่ แครอท มะเขือเทศ บร็อคโคลี่ ผักใบเขียว ชาเขียว กระเทียม และหอมใหญ่ ส่วนการใช้วิตามินเอ บี ซี สังกะสี และไลโคปีน ในรูปแบบอาหารเสริมไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำ นอกจากนี้ การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดสิ่งกระตุ้น และเมื่อพบว่าร่างกายมีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาลให้ทราบทุกครั้งที่ใช้บริการสถานพยาบาล

Pre-meal protein supplement

จริงหรือไม่ ทานโปรตีนก่อนมื้ออาหาร ทำให้น้ำหนักลดได้ดีกว่า?

อย่างที่ทราบกันว่า ปัจจุบันมีการใช้โปรตีนเป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักอย่างแพร่หลาย และให้ความสำคัญกับปริมาณโปรตีนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งสำคัญต่อการสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพิ่มการเผาผลาญพลังงานร่างกาย และการทานโปรตีนก่อนมื้ออาหารก็เป็นอีกหนึ่งในวิธีการลดน้ำหนักที่เป็นผลดีมากเช่นกัน ซึ่ง 5-10% ของน้ำหนักที่ลดลงคือเป้าหมายพื้นฐานของสุขภาพที่ดีขึ้น ส่วนโปรตีนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย คือ 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

โปรตีน เป็นหนึ่งในสารอาหารหลัก (Macronutrients) ที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งควรได้รับพลังงานจากโปรตีนคิดเป็น 15-20% ของความต้องการพลังงานทั้งหมดในหนึ่งวัน รวมถึงเป็นแหล่งกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ในกระบวนการย่อยของโปรตีนจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าการย่อยคาร์โบไฮเดรต มีค่า Thermic effect of food (TEF) สูงถึง 20-30% หมายความว่า 100 กิโลแคลอรี่ที่ได้จากโปรตีน ถูกนำไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญพลังงานจากการรับประทานอาหาร 20-30 กิโลแคลอรี่ (มากที่สุดของ Macronutrients) โปรตีนที่ร่างกายได้รับถูกนำไปสร้างมวลกล้ามเนื้อ กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานร่างกาย เพิ่มการเผาผลาญไขมัน  ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่ถูกพูดถึงในเรื่องการลดน้ำหนัก

จากการศึกษาด้านฟีโนไทป์ (Phenotype) หรือลักษณะที่แสดงออกของเรา ที่เป็นพื้นฐานของโรคอ้วน ให้ผู้ที่มีความผิดปกติ หิวบ่อย หิวเร็ว กินจุบจิบทั้งวัน (Hungry gut) เสริมโปรตีนก่อนมื้ออาหารทั้ง 3 มื้อ 12 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักตัวลดลงมากถึง 8 กิโลกรัม (7%) เทียบกับการทานอาหารพลังงานต่ำ (Low calorie diet) โดยไม่ได้เสริมโปรตีนก่อนมื้ออาหาร (น้ำหนักลดลง 3.7 กิโลกรัม คิดเป็น 3.4%) และเป็นผลเช่นเดียวกันในผู้ที่มีความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานได้ช้ากว่าคนอื่น กินแล้วอ้วนง่าย คุมอาหารแล้วลดยาก (Slow burn) โดยให้เสริมโปรตีนหลังการออกกำลังกาย นอกจากน้ำหนักตัวที่ลดลง ยังพบว่ามีการลดลงของเส้นรอบเอว มวลไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ และระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ป่วยเบาหวานด้วย

การลดลงของน้ำหนักตัวจากการเสริมโปรตีนก่อนมื้ออาหารนั้น เป็นผลมาจากการลดความถี่ในการบีบตัวของกระเพาะอาหาร (Gastric emptying) ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น การย่อยโปรตีนใช้เวลานานกว่าการย่อยคาร์โบไฮเดรต เป็นผลทำให้รู้อิ่มนานขึ้น ระงับความหิวได้ โปรตีนถูกบรรจุอยู่ในกระเพาะอาหารนานก่อนที่จะถูกส่งไปยังลำไส้เล็ก กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน CCK (Cholecystokinin) ที่ช่วยกระตุ้นถุงน้ำดี GLP-1 (Glucagon like peptide-1) และ GIP (Gastric inhibitory polypeptide) ที่มีฤทธิ์กระตุ้นอินซูลินจากตับอ่อน มีผลต่อการหลั่งอินซูลินที่มากขึ้น นั่นเป็นผลที่ว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้

สังเกตด้วยว่า การเสริมโปรตีนในปริมาณที่ต่ำ (10 กรัม) หรือสูงเกินไป (40 กรัม) ก่อนมื้ออาหารอาจไม่เป็นผลดีและไม่เป็นผลต่อประโยชน์สูงสุดเสมอไป ปริมาณโปรตีนที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน จากการศึกษาแนะนำให้รับประทานโปรตีนในปริมาณ 30-40 กรัม ก่อนมื้ออาหาร 60 นาที จะทำให้ระดับน้ำตาลลดลงที่ 60-120 นาที และมีผลระงับความหิวสูงสุดภายใน 180 นาที

ดังนั้น การเสริมโปรตีนก่อนมื้ออาหารเป็นผลทำให้น้ำหนักตัวลดลงมากขึ้น เส้นรอบเอวลดลง เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และยังส่งยังเปนีนผลดีกับผู้ป่วยเบาหวาน ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้ สิ่งสำคัญคือระยะเวลาในการทานโปรตีนก่อนมื้ออาหาร ซึ่งแนะนำที่ 60 นาทีก่อนมื้ออาหาร และไม่ควรเกิน 180 นาที อย่างไรก็ตาม มื้ออาหารที่ดีร่วมกับการเสริมโปรตีนก่อนมื้ออาหารจะเป็นผลดีต่อน้ำหนักตัวมากกว่าการเสริมโปรตีนก่อนมื้ออาหารเพียงอย่างเดียว

ข้อมูลอ้างอิง

Lifestyle intervention ที่ปรับตามฟีโนไทป์เกี่ยวกับการลดน้ำหนักและปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน https://www.thelancet.com/journals/eclinm/article/PIIS2589-5370%2823%2900100-1/fulltext#appsec1

ที่มารูป : mensjournal.com

Mae Hong Son x KinYooDee

9 ธันวาคม 2566 วิสาหกิจชุมชนแม่ฮ่องสอน โดย นางสาวชนเขต บุญญขันธ์ ผู้จัดการทั่วไป และ กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม (วิสาหกิจเพื่อสังคม) โดย นายณกร อินทร์พยุง ประธานที่ปรึกษา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มคุณค่าและมูลค่าสินค้า สร้างโอกาสทางการตลาดและส่งออก

วิสาหกิจชุมชนแม่ฮ่องสอน x กินอยู่ดีแพลตฟอร์ม