Autoimmune

โรคแพ้ภูมิตัวเองกับโภชนบำบัด

เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายกลายเป็นศัตรู จนร่างกายได้รับความเสียหายหรือการบาดเจ็บ ที่เรียกว่า “แพ้ภูมิตัวเอง” หรือ “ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง”

โรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune disease) หรือโรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) หรือที่รู้จักกันว่า “โรคพุ่มพวง” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกายที่แข็งแรง หรือจดจำว่าเซลล์ร่างกายเป็นสิ่งแปลกปลอมเหมือนเชื้อโรค (Antigen) ที่ต้องทำลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากร ประมาณ 5 ล้านคนทั่วโลก พบในประเทศไทย ประมาณ 40 คน ต่อ ประชากร 100,00 คน ต่อปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่คาดว่าจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ และสามารถพบได้ในทุกช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แม้ว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่หากสภาวะร่างกายสร้างระบบภูมิต้านทานผิดปกติ ก็สามารถแพ้ภูมิตนเองได้

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง มักรวมกันเพื่อกระตุ้นให้เกิดโรค ได้แก่

    • เพศ : เพศหญิงมากกว่าเพศชาย 9:1 โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์
    • ฮอร์โมน : โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen และ Progesterone)
    • พันธุกรรม : 10% จากตัวแปรทางพันธุกรรมหลายสิบชนิดที่เชื่อมโยง เช่น ยีน CD40 บนโครโมโซม X (โครโมโซมเพศ) Anti-dsDNA antibody เป็นต้น
    • สภาพแวดล้อม : แสงแดด มลพิษ สารเคมี
    • การติดเชื้อ

โรคแพ้ภูมิตัวเองสามารถเกิดความผิดปกติได้กับทุกส่วนของร่างกาย อาการของโรคจึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับส่วนที่ถูกทำลาย อาจจะทำลายส่วนเดียวของร่างกายหรือหลายส่วนพร้อมกันก็ได้ ประมาณ 50% ของผู้ที่เป็นโรคจะมี “ผื่นปีกผีเสื้อ (Butterfly rash)” บนใบหน้าเป็นเอกลักษณ์ของโรค โดยเฉพาะหลังโดนแดด อาการของโรคมีตั้งแต่น้อยจนถึงรุนแรงมาก และอาจเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของอวัยวะที่ถูกทำลาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

    1. Major organ involvement: ภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ระบบประสาท ไต หัวใจ ปอด ทางเดินอาหาร และเลือด เป็นต้น อวัยวะเหล่านี้จะมีความรุนแรงมาก และอาจเสียชีวิตได้ เช่น ไตอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
    2. Non-major organ involvement: ภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะอื่น ๆ เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เป็นต้น จัดเป็นความรุนแรงระดับน้อย (ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตมากนัก) ถึงปานกลาง เช่น ไข้ ผื่นผิวหนัง ปวดข้อหรือข้ออักเสบเล็กน้อย เป็นต้น

เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการเฉพาะ และอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ ทำให้การวินิจฉัยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และจำเป็นต้องใช้การตรวจหลายอย่างร่วมกัน เช่น การตรวจ Antinuclear antibody (ANA) ซึ่งเป็นการตรวจพื้นฐานเพื่อวินิจฉัยโรค SLE แต่จำเป็นต้องการประเมินการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย (เนื่องจาก ANA มีส่วนจากอายุที่เพิ่มขึ้น) โดยใช้ Criteria ของ Systemic Lupus International Collaborating Clinics (SLICC) ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 4 ข้อ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้ เป้าหมายหลักคือ ควบคุมการกำเริบ (อาการสงบของโรค) ให้ได้นานที่สุด โดยใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อลดการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง หากภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะหลายส่วน ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น แสงแดด มลพิษ ความเครียด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ร่วมกับการดูแลพฤติกรรมสุขภาพโดยรวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอ

โภชนบำบัดสำหรับโรคแพ้ภูมิตัวเอง ยังไม่มีผลวิจัยสำหรับอาหารที่ช่วยลดอาการของโรค อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะสม และได้สารอาหารที่เพียงพอ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรค ป้องกันการบาดเจ็บของร่างกาย และเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

จากการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัย สารอาหารที่แนะนำและควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วย SLE สามารถสรุปได้ในตาราง

Recommended Per day Avoid Per day
โอเมก้า 3 (EPA) 5 g ไขมันอิ่มตัว 10 g
โอเมก้า 3 (DHA) 5 g โซเดียม 2000 mg
ไฟเบอร์ 25 g คอเลสเตอรอล 30 mg
แคลเซียม 1000 mg
วิตามิน D 10 ug
วิตามิน C 500 mg
วิตามิน E 800 IU (536 mg)

โดยสรุป โรคแพ้ภูมิตัวเองเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ สลับกัน อาการเบื้องต้นคล้ายกับหลาย ๆ โรค จำเป็นต้องใช้เวลานานในการวินิจฉัย ถึงแม้ว่ายังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การควบคุมอาการกำเริบเพื่อให้โรคสงบได้นานที่สุด สามารถทำได้โดยการดูแลพฤติกรรมสุขภาพองค์รวม สังเกตอาการตัวเองบ่อย ๆ รับประทานยาสม่ำเสมอ ติดตามการรักษาเป็นประจำ ไม่เจอแสงแดดโดยไม่จำเป็น ออกกำลังกายพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้สมดุล และใส่ใจสารอาหารที่ได้รับ การรับรู้อาการของโรคและเข้าใจสภาวะร่างกายตนเอง จะทำให้รับมือกับอาการกำเริบได้ดีขึ้น และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ นอกจากนี้ การติดตามเฝ้าระวังตนเอง และการวินิจฉัยที่ทันเวลา จะเป็นผลดีต่อการรักษาและลดความเสียหายต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้

ที่มารูป : drmaggieyu

Antioxidant

การชะลอวัยกับเมนูอาหารต้านอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระ (Free radical) เป็นสารไม่เสถียรที่ไวต่อปฏิกิริยาออกซิเดชัน หรือเข้าใจอย่างง่ายคือ การเกิดสนิมของเหล็ก หรือกลิ่นหืนของน้ำมันพืช เป็นต้น เช่นเดียวกับในร่างกาย เปรียบเสมือนร่างกายสะสมสนิมเป็นเวลานานทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ เสื่อมสภาพลง หรือเกิดการอักเสบ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) คือ สารที่ปกป้องหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของอนุมูลอิสระ (ตัวร้าย) โดยเข้าไปแย่งที่จับกับอนุมูลอิสระให้เสถียรหรือให้เป็นกลาง และคืนความสมดุลให้ร่างกาย เพื่อปกป้องการทำลาย หรือยับยั้ง และยุติลูกโซ่การเกิดอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุของการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ การเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง และการมีริ้วรอยมากขึ้นหรือแก่เร็ว สารต้านอนุมูลอิสระมีความสำคัญต่อการปกป้องเซลล์จากอันตราย (อนุมูลอิสระ) ที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ จากกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การเผาผลาญของร่างกาย รวมถึงมลพิษรอบตัว และการบริโภคอาหาร ดังนั้น สารต้านอนุมูลอิสระจึงจำเป็นกับทุกเพศทุกวัย ถึงแม้ร่างกายสามารถสร้างได้เอง แต่อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันอนุมูลอิสระที่ร่างกายได้รับที่มาจากมลพิษรอบด้านที่มีแนวโน้มมากขึ้นทุกวัน เช่น ปัญหาฝุ่น ควัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มเติมจากการรับประทานอาหาร เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นกับสารต้านอนุมูลอิสระ ประโยชน์จากการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ

    • ลดอนุมูลอิสระในร่างกาย
    • ชะลอการเสื่อมของเซลล์
    • ลดริ้วรอยจากการป้องกันออกซิเดชันของเซลล์ผิวหนัง
    • ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน เป็นต้น
    • ช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น
    • เป็นเกราะป้องกันมลพิษต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม เช่น รังสี UV ฝุ่น ควันรถ ควันบุหรี่ เป็นต้น

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายสะสมอนุมูลอิสระมากขึ้น แต่จะสร้างสารต้านอนุมูลอิสระน้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะความเสื่อมสภาพของผิวหนัง ซึ่งเป็นไปตามวัยและปัจจัยภายนอกที่เร่งผิวให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น เช่น แสงแดด มลภาวะ ฝุ่นควัน สูบบุหรี่ ความเครียด ซึ่งมากกว่า 60% มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และอีก 40% มาจากปัจจัยทางพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม จากผลงานวิจัยพบว่า การควบคุมการบริโภคอาหารให้ลดลง 20 – 30% สามารถช่วยลดความเสื่อมของร่างกายและชะลอวัยได้ การควบคุมการการบริโภคอาหารที่ลดลง ส่งผลให้ระดับอินซูลินและอุณหภูมิร่างกายลดลง ซึ่งเป็นผลจากการลดการเกิดอนุมูลอิสระจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolism) และนำไปสู่การอักเสบที่ลดลงด้วย หรือที่คุ้นเคยกันว่า “กินน้อยแก่ช้า กินมากแก่เร็ว”

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) พบได้ในพืชผักผลไม้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพืชผักสีเข้ม และผลไม้สีเหลืองส้ม เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักเคล กวางตุ้ง ฟักทอง ส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก มะเขือเทศ เป็นต้น ซึ่งประกอบไปด้วยสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิดที่มีความโดดเด่น เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เซเลเนียม ฟวาโวนอยด์ กลูต้าไธโอน แคโรทีนอยด์ และเบต้า/แคโรทีน เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดมีหน้าที่แตกต่างกัน เช่น

    • วิตามินซี: เป็นสารต้านอนุมูลอสระที่ไซโตพลาสซึม
    • วิตามินอี: เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เมมเบรน (เยื่อหุ้มเซลล์)
    • กลูต้าไธโอน: ป้องกันอันตรายที่ไซโตพลาสซึมและเมมเบรน

ตัวอย่างอาหารที่พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง

อาหาร ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ (mmol/100 g)
ดาร์กช็อกโกแลต 15
ถั่วพีแคน 10.6
บลูเบอร์รี่ 9.2
สตรอว์เบอร์รี่ 5.4
ราสเบอร์รี่ 4
ผักเคล 2.7
กะหล่ำปลีม่วง 2.2

แม้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระจะเป็นประโยชน์มากมาย แต่การได้รับที่มากเกินไปก็สามารถเกิดอันตรายได้ เช่น จากผลงานวิจัยพบว่า การได้รับ วิตามินอี ที่มากเกินไป (มากกว่า 1000 มิลลิกรัมต่อวัน) สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคหลอดเลือดสมองได้ หรือการได้รับ เบต้า/แคโรทีนที่มากเกินไปในผู้ที่สูบบุหรี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดสูงขึ้น โดยทั่วไป การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิดที่มากเกินไป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบริโภคอาหารเสริม ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มาจากธรรมชาติ เช่น พืช ผักผลไม้ หรือควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระในรูปแบบอาหารเสริม

ความหลากหลายของเมนูอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เราไม่เคยทราบถึงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายได้รับต่อวัน และอาหารแต่ละอย่างก็ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด “KinYooDee” เป็นแอปพลิเคชันหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสามารถติดตามสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งสารอาหารอื่น ๆ ที่สนใจได้ ทำให้บุคคลทราบถึงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี หรือ วิตามินอี ที่ได้รับในแต่ละวัน หรือภายในช่วงเวลา (1 สัปดาห์) ว่าขาดหรือเกิน ตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน KinYooDee ยังช่วยแนะนำเมนูอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ควรรับประทานอีกด้วย เพื่อช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง อย่างมีประสิทธิภาพ

Personalized_diet

นำเสนอผลงาน โมบายแอพฯ เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารตามค่าเป้าหมายเฉพาะบุคคล – A mobile app-based intervention for personalized diet goals ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 17 “โภชนาการเพื่อความเสมอภาคและยั่งยืน” 6-7 มีนาคม ไบเทค บางนา

KinYooDee_Shop

29 กุมภาพันธ์ 2024 ฤกษ์เปิดร้าน กินอยู่ดี Shop สาขาแรก นับหนึ่ง Zero-to-one ณ ปั๊มน้ำมัน ปตท. ถนนข้าวหลามฝั่งขาเข้า ชลบุรี จากพวกเรา #กินอยู่ดีแพลตฟอร์ม กลุ่มวิศกรซอฟต์แวร์ นักชีวสารสนเทศ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มารวมตัวกันเพื่อเติมสุขภาพดีให้กับคนไทย – เน้นสินค้าและบริการ 5 กลุ่มหลัก

#โพรไบโอติกส์
#ชุดตรวจคัดกรองโรค #ส่งเสริมสุขภาพ #ดีเอ็นเอ
#บริการสุขภาพ
#อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพ
#วางแผนสุขภาพ

***** ขอขอบคุณพันธมิตรทางธุรกิจที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการวางสินค้าเพื่อจำหน่ายและบริการทางคลินิก

Food Intolerance

ภูมิแพ้อาหารแฝง แพ้แต่ไม่รู้ตัว

หลายคนมักสงสัยว่าตนเองแพ้อาหาร แต่ความเป็นจริงแล้วในผู้ใหญ่มีอาการแพ้อาหาร (Food Allergy) เพียง 1-2% เท่านั้น ที่เป็นสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกัน (IgE antibody) ส่วนใหญ่เป็นการแพ้อาหารที่ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (IgG antibody) หรือที่เรียกว่า “ภูมิแพ้อาหารแฝง”

ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) คือ อาการไม่พึงประสงค์จากอาหารที่ไม่ได้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน แต่เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญและระบบทางเดินอาหารที่ไม่สามารถย่อยสารอาหารชนิดนั้นได้สมบูรณ์ หรืออาจเกิดจากการอักเสบในร่างกายที่ทำให้ย่อยอาหารชนิดนั้นได้ไม่ดี เช่น อาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง อาหารแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารกระตุ้นการอักเสบ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน

สังเกตด้วยว่า อาการแพ้อาหารแฝงไม่เกิดขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหารชนิดนั้น ต่างจากการแพ้อาหาร (Food Allergy) ที่จะเกิดขึ้นทันทีหรือภายใน 1-2 ชั่วโมง ภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นผลจากการก่อตัวของ IgG antibody ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ถึง 2-3 วัน หลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้น มักมีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง ด้วยเหตุนี้ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ มักเป็นอาการเรื้อรังที่ส่งผลต่อสุขภาพแบบไม่รู้ตัว รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาการที่พบได้บ่อย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นผื่นคัน ลำไส้แปรปรวน ปวดศีรษะหรือไมเกรน ไอ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ลมพิษ มีแก๊สในท้อง เกิดภาวะลำไส้รั่ว (Leaky gut) น้ำหนักขึ้นง่าย เป็นสิวไม่หาย เป็นต้น

การแพ้อาหาร และภูมิแพ้อาหารแฝง แตกต่างกันอย่างไร

การแพ้อาหาร (Food Allergy)
    • Antibody IgE
    • เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้
    • มีอาการทันทีหลังทานอาหาร หรือไม่เกิน 2 ชั่วโมง
    • เป็นตลอดชีวิต
    • อาการอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เช่น หายใจลำบาก บวมตามใบหน้า คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หมดสติ เป็นต้น
ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance)
    • Antibody IgG
    • เกิดจากการขาดเอนไซม์หรือร่างกายไวต่อสารอาหารนั้น
    • มีอาการหลังจากทานอาหารไปแล้วหลายชั่วโมง
    • มีเปลี่ยนแปลงหรือหายขาดได้ เมื่อทราบสาเหตุ โดยใช้การหลีกเลี่ยงหรือรักษาที่ตรงจุด
    • อาการไม่รุนแรง แต่มักทำให้เกิดความรำคาญจากอาการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลต่อสุขภาพองค์รวม

การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง

เป็นการตรวจเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน (Food specific IgG) เพื่อดูว่าภูมิแพ้อาหารแฝงต่ออาหารชนิดใดบ้าง ระดับ IgG น้อยกว่า 30 U/ml ถือเป็นลบ และระดับ IgG มากกว่าหรือเท่ากับ 30 U/ml ถือเป็นบวก สามารถตรวจสารก่อภูมิแพ้อาหารแฝงมากกว่า 200 ชนิด รวมทั้งอาหารจากธรรมชาติและสารอาหารสังเคราะห์ หรือวัตถุเจือจนอาหาร อาหารที่พบเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไข่ นม ถั่วเหลือง ถั่วสิลง อาหารทะเล กลูเตน (ข้าวสาลี ข้าวไรซ์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต) รวมทั้งสารอื่น ๆ ที่ผสมในอาหาร เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรส) สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สีผสมอาหาร วัตถุปรุงแต่งกลิ่นรส เป็นต้น ภูมิแพ้อาหารแฝงเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ

    1. ร่างกายขาดเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับการย่อยอาหารนั้น ๆ ทำให้ไม่สามารถย่อยหรือย่อยได้ไม่สมบูรณ์
    2. ร่างกายไวต่อสารบางชนิดในอาหาร มักมีอาการแสดงเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ มากเกินไป

ภูมิแพ้อาหารแฝง สามารถสำรวจเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ดังนี้

    • จดบันทึกอาหารที่รับประทานและอาการที่เกิดขึ้น
    • งดรับประทานอาหารที่สงสัยทีละชนิด เป็นเวลา 2-6 สัปดาห์
    • ลองกลับมาทานอาหารชนิดนั้นซ้ำ หากมีอาการอีกครั้ง เป็นไปได้ว่าอาหารชนิดนั้นเป็นสาเหตุของการแพ้อาหารแฝง

ทั้งนี้ ภูมิแพ้อาหารแฝงไม่ใช่การแพ้อาหาร ยังสามารถรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้ สิ่งสำคัญคือปริมาณที่รับประทาน ควรงดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานจนกว่าอาการจะหายไป และสามารถกลับมารับประทานได้ในปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเพื่อสังเกตุดูปริมาณที่ร่างกายสามารถทนต่ออาการกำเริบได้

อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุของภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่แสดงอาหารทันทีเหมือนการแพ้อาหาร ดังนั้น การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันและรักษา หรือรู้เท่าทันสภาวะร่างกาย ถึงแม้อาการไม่พึงประสงค์ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญใจในการใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อย การทราบสาเหตุที่แน่ชัดย่อมเป็นผลที่ดีต่อการป้องกันและรักษาอาการเรื้อรังต่าง ๆ ได้

ที่มารูป : wikihow.health

Autonomous Driving

ศูนย์เชี่ยวชาญยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ aDrive –  Autonomous Solution คณะโลจิสติกส์ ม.บูรพา ร่วมกับ กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม รับสมัครนิสิตสหกิจศึกษาและ Co-senior projects

#aDrive #FutureMobility

Exchange_tokens

Social Points Exchange Platform on Blockchain

การทำกิจกรรมเพื่อสังคมจะช่วยทำให้สังคมน่าอยู่ หลาย ๆ องค์กรสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยใช้การสะสมคะแนนและนำคะแนนเหล่านั้นไปแลกของรางวัล อย่างไรก็ตาม ผู้ทำกิจกรรมกลับไม่ได้นำคะแนนสะสมไปใช้งาน อาจเพราะว่ามีคะแนนไม่เพียงพอหรือของรางวัลไม่ตรงกับที่ต้องการ งานวิจัยนี้เสนอการพัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคะแนนเพื่อสังคม เนื่องจากการใช้แพลตฟอร์มกลาง จะทำให้เกิดปัญหาความเชื่อใจโดยที่แต่ละองค์กรต่างก็สามารถสร้างคะแนนสะสมขึ้นมาได้เองและสมาชิกขององค์กรอื่นสามารถนำคะแนนสะสมมาแลกของรางวัลกับองค์กรของตนได้ บล็อกเชน ไฮเปอร์เล็ดเจอร์ แฟบริค ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยแปลงคะแนนสะสมของแต่ละแอปพลิเคชันเป็นเหรียญก่อนนำเข้าสู่แพลตฟอร์ม จากนั้นเจ้าของเหรียญสามารถเสนอซื้อหรือเสนอขายเหรียญที่ตนเองต้องการ เมื่อต้องการแลกของรางวัล ผู้ใช้จะถอนเหรียญออกจากแพลตฟอร์มและแปลงกลับไปเป็นคะแนนสะสมไปยังแอปพลิเคชันที่ต้องการแลกของรางวัล ผลการทดสอบแพลตฟอร์มตามสถานการณ์จำลองที่กำหนดขึ้น สามารถแปลงคะแนนสะสมเป็นเหรียญ แลกเปลี่ยนเหรียญโดยการเสนอซื้อหรือเสนอขาย ประมวลข้อมูลธุรกรรมบนบล็อกเชน ค้นหาและตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Social activities enrich social communities and our society. A number of organizations have attempted to promote social activities by using point rewards. However, the organization members often do not use these points for redemption. This may be either they do not have sufficient points or the rewards are not attractive to them. This research develops the social points exchange platform on blockchain. Due to the centralized structure of the platform brings untrusted issues in which the organization can make points and its member can redeem the points to other organizations. The Hyperledger Fabric blockchain is applied to solve the problem by tokenizing points for each organization, and managing them in the exchange platform. The member makes an offer or bid for the tokens. To redeem points, the member withdraws the tokens from platform and re-tokenize them to the points of application that offers interesting redemption. The computational experiments with several specified scenarios have indicated that the platform is capable of tokenizing the social points, executing bid and offer for the tokens, processing blockchain data, finding and tracing the transactions effectively

ที่มีรูป : Money Sense

Apps-intervention

A mobile app-based intervention for personalized diet goals

โมบายแอพฯเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารตามค่าเป้าหมายเฉพาะบุคคล – การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารเป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้ว่าบุคคลจะกำหนดแผนหรือเป้าหมายในการควบคุมปริมาณการบริโภคอาหารและสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณสารอาหารที่ขาด (หรือเกิน) ซึ่งส่งผลต่ออาการของโรคหรือภาวะสุขภาพในระยะยาว ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะทราบได้ว่า ในหนึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์เราขาดสารอาหารอะไร ในปริมาณเท่าไร บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้โมบายแอปพลิเคชัน “KinYooDee” บนแพลตฟอร์มกินอยู่ดี เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารตามค่าเป้าหมายเฉพาะบุคคล แอปพลิเคชันฯ จะติดต่อกับระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตารางข้อมูลเมนูอาหารไทยและสารอาหารมากกว่า 10,000 เมนู เมื่อผู้ใช้บันทึกข้อมูลเมนูอาหารที่บริโภคลงในแอพฯ อัลกอริทึมจะประมวลผลและแนะนำเมนูอาหารพร้อมรายละเอียดปริมาณสารอาหารที่จะได้รับ ปริมาณสะสม และค่าระยะห่างจากเป้าหมาย ในช่วงเวลาการแจ้งเตือนที่เหมาะสม และตามรายการสารอาหารที่ผู้ใช้กำหนด รวมทั้งตามค่าเป้าหมายความสมดุลของการบริโภค นั่นคือ ต้องการสมดุลภายใน 1 วัน หรือ สมดุลภายใน 1 สัปดาห์ ผลทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแสดงให้เห็นว่า แอปพลิเคชันฯ สามารถแจ้งเตือนและแนะนำเมนูอาหารได้ตามที่ออกแบบไว้ และมีข้อเสนอให้ปรับอัลกอริทึมโดยให้ลำดับความสำคัญต่อเมนูอาหารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งปรับปรุงความถูกต้องของสารอาหารในเมนูอาหาร คณะผู้วิจัยยังคงพัฒนาแอปพลิเคชันฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในโครงการส่งเสริมสุขภาพของบุคคลากรในองค์กร รวมทั้งประชาชนคนไทย ซึ่งผลการประเมินประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันฯ เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหาร จะถูกรายงานไว้ในงานวิจัยระยะถัดไป

Insomnia

นอนไม่หลับหรือหลับไม่มีคุณภาพ วิธีแก้ปัญหา?

หากพูดถึงการดูแลสุขภาพร่างกายที่ดีส่วนใหญ่มักพูดถึงการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นหลัก แต่อีกหนึ่งความสำคัญที่ไม่แพ้กันคือ การนอนหลับ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาการใช้ชีวิตในหนึ่งวัน เป็นการพักผ่อนที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูและซ่อมแซมระบบการทำงานของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งสมอง ความจำ การเผาผลาญ ภูมิคุ้มกัน การหายใจ รวมถึงสุขภาพจิต ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล ซึมเศร้า หลงลืม รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ง่าย เมื่อร่างกายได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ

ดังแสดงในภาพด้านล่าง วงจรการหลับ-ตื่น (Sleep-wake cycle) ถูกควบคุมโดยนาฬิกาชีวภาพ ซึ่งจะถูกกระตุ้นด้วยแแสง และในเวลากลางคืนที่ไม่มีแสงสว่างจะมีการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นวงจรการนอนหลับ โดยลดระดับความตื่นตัวและอุณหภูมิร่างกาย สำหรับวัยผู้ใหญ่ควรมีการนอนหลับ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ NREM (Non-rapid eye movement) ช่วงหลับปกติถึงหลับสนิท และระยะ REM (Rapid eye movement) ช่วงหลับฝัน

    1. NREM (Non-rapid eye movement) ช่วงที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของดวงตา เกิดขึ้น 75-80% ของระยะเวลานอนหลับ ตั้งแต่เริ่มหลับจนหลับสนิท แบ่งเป็น 3 ช่วง
      • N1: ช่วงที่เริ่มหลับ ประมาณ 5-10 นาทีแรก ของการนอนหลับ
      • N2: ช่วงที่เคลิ้มหลับ (Ligh sleep) เป็นช่วงที่ใช้เวลานานที่สุด การเต้นของหัวใจและอุณหภูมิร่างกายลดลง
      • N3: ช่วงที่หลับลึก (Slow wave sleep) เป็นช่วงที่ร่างกายอยู่ในภาวะพักผ่อน ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งเร้า และมีการหลั่ง Growth hormone ซึ่งสำคัญต่อการฟื้นฟูร่างกายและเสริมภูมิคุ้มกัน หากถูกปลุกในช่วงนี้จะมีอาการงัวเงีย และตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกไม่สดชื่น
    1. REM (Rapid-eye movement) ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของดวงตาและเกิดความฝัน เกิดขึ้น 20-25% ของระยะเวลานอนหลับ เป็นช่วงที่สมองทำงานใกล้เคียงกับตอนตื่น สำคัญต่อเรื่องความทรงจำ การเรียนรู้ และจินตนาการ(ฝัน)

ที่มา: https://www.informedhealth.org/what-is-normal-sleep.html

การนอนหลับจะเริ่มต้นจาก ระยะ NREM สลับกับ REM เป็นวงจรตลอดการนอนหลับ 4-6 รอบ รอบละ 80-120 นาที หรือประมาณ 90 นาทีโดยเฉลี่ย (ดังแสดงในภาพด้านล่าง) วงจรแรกของการนอนหลับจะมีระยะ REM สั้นและนานขึ้นในรอบถัด ๆ ไป นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงชอบฝันช่วงใกล้เวลาตื่น ในความจริงแล้วร่างกายมีการฝันทุกคืน ฝันได้ทุกช่วงของการนอนหลับโดยเฉพาะในช่วง REM เป็นกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้และความจำ เพียงแต่ว่าเราจำได้บ้างไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าตื่นขึ้นมาในช่วงที่มีการฝันหรือไม่

ที่มา: https://www.sleepfoundation.org/stages-of-sleep

การนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี คุณภาพของการนอนหลับต้องควบคู่ทั้งระยะเวลาการนอนและประสิทธิภาพของการหลับ ทำให้ตื่นด้วยความรู้สึกสดชื่นเต็มอิ่ม และไม่ง่วงระหว่างวัน มีช่วงเวลาหลับลึก (Deep sleep) 13-23% หรือประมาณ 55-97 นาที แต่ปัญหาที่พบได้บ่อยคือ ภาวะนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ซึ่งมักจะรบกวนการนอนหลับและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่แล้วมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ ความเครียด วิตกกังวล การออกกำลังกายอย่างหนัก การรับประทานอาหารที่อิ่มเกินไป การใช้สารกระตุ้น รวมถึงโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เช่น โรคทางจิตเวช โรคอ้วน รวมทั้งโรคทางเดินหายใจที่ทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับ การนอนกรน และการนอนละเมอ ซึ่งโรคเหล่านี้ควรได้รับการตรวจการนอนหลับ (Sleep test) เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ในด้านอาหารและโภชนาการ เราควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมต่อการใช้งานของร่างกาย โดยเน้นสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการนอนหลับหรือกระตุ้นการสร้างเมลาโทนิน เช่น ทริปโตเฟน แอล-ธีอะนีน เซโรโทนิน เหล็ก และแมกนีเซียม พบได้มากใน นม ไข่ ถั่ว ข้าวโอ๊ต กล้วย กีวี่ เชอร์รี่ และปลา นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน นิโคติน สารเหล่านี้นอกจากจะรบกวนระยะเวลาการนอนแล้วยังทำให้คุณภาพการนอนหลับลดลงด้วย และเป็นข้อสังเกตจากงานวิจัยว่า แอลกอฮอล์ (ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานการดื่ม) สามารถช่วยทำให้หลับได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่จะลดคุณภาพของการนอนหลับลงด้วย และหากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปเป็นประจำอาจเป็นภาวะติดแอลกอฮอล์เรื้อรังได้

จากการรวบรวมบทความทางวิชาการ เทคนิคที่จะช่วยแก้ปัญหาภาวะการนอนไม่หลับ และเพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ โดยใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถสรุปได้ดังนี้

    • ตั้งเวลาตื่นนอน เวลาเดียวกันทุกวัน รวมทั้งวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุด
    • ออกไปเดินสัมผัสแสงแดดตอนเช้า
    • เริ่มทำงานในช่วงเช้าของวัน
    • เพิ่มกิจกรรมทางกายระหว่างวัน
    • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังเวลา 14:00
    • ถ้าต้องการพักสายตาในช่วงเวลากลางวัน ควรพักก่อนเวลา 15:00 และไม่ควรเกิน 30 นาที
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใกล้เวลานอน
    • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือควรอาบน้ำโดยปรับอุณหูมิน้ำให้ลดลงกว่าปกติ ก่อนเวลาเข้านอน
    • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ 1-2 ชั่วโมง ก่อนเวลาเข้านอน
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารว่างก่อนนอน
    • ดื่มนมอุ่น ๆ หรือชาคาโมมายล์ ซึ่งมีสารอะพิจีนีน มีฤทธิ์ช่วยคลายวิตกกังวล ช่วยทำให้สมองผ่อนคลาย ส่งผลให้การนอนหลับดีขึ้น
    • นอนในห้องที่มืด ไม่ควรมีแสงไฟจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
    • ปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้อยู่ระหว่าง 22 – 23 องศาเซลเซียส

สังเกตด้วยว่า การใช้เมลาโทนินเพื่อช่วยการนอนหลับ ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ยังไม่อนุญาตให้ใช้เมลาโทนินเป็นส่วนประกอบในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ในระยะยาว และจัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายยา แม้ว่าบทความจากงานวิจัยบางส่วนจะระบุว่า เมลาโทนินสามารถช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้นจริง แต่ผลที่ได้รับยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ซึ่งอาจช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้นเล็กน้อย หรืออาจจะช่วยไม่ได้เลย ในทางการแพทย์ ยังไม่แนะนำให้ใช้เมลาโทนินในการรักษาภาวะการนอนไม่หลับ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ นอกจากนี้ นมผึ้ง (Royal jelly) ยังเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เชื่อว่า สามารถช่วยในการรักษาภาวะการนอนไม่หลับได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันแน่ชัดถึงสรรพคุณดังกล่าว และอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพเมื่อรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

กล่าวโดยสรุป การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่สำคัญต่อการฟื้นฟูระบบร่างกาย การนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพจะช่วยทำให้ร่างกายตื่นด้วยความรู้สึกสดชื่นเต็มอิ่ม การมีวินัยต่อสุขอนามัยในการนอนหลับเป็นการแก้ปัญหาหลักสำหรับอาการนอนไม่หลับ หากยังมีภาวะนอนไม่หลับหรือหลับไม่มีคุณภาพ ควรไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การนอนหลับเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง การทราบสาเหตุที่ส่งผลต่อภาวะการนอนไม่หลับตั้งแต่ระยะเนิ่น ๆ จะสามารถแก้ไขปัจจัยรบกวนและรักษาอาการได้เร็วขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ไม่เพียงแต่เพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย

ที่มารูป : Forbes

Thrombosis

การถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยหลักของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombophilia) เป็นการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่พบได้บ่อย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประชากรทั่วโลก ถือว่าเป็นภัยเงียบ เนื่องจากในบางรายไม่มีการแสดงอาการ หรือมีอาการที่ไม่ชัดเจน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นอันดับสาม รองจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคลิ่มเลือดอุดตันเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุจากพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบหลอดเลือดและการไหลเวียน ตามทฤษฎีของ Virchow’s triad สาเหตุที่ทำให้การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่

    1. การไหลเวียนเลือดช้า (Stasis of blood) เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
    2. เซลล์บุหลอดเลือดถูกทำลาย (Endothilial injury) เช่น การบาดเจ็บ
    3. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Thrombophilia) เช่น จากพันธุกรรรม

การเกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่มาจากปัจจัยทางพันธุกรรม มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

    • การกลายพันธุ์ของยีน F5 (Factor V leiden) และยีน F2 พบได้ในประชากร 1 – 5% โดยยีน F5 จะสร้าง Coaglation Factor V และยีน F2 สร้าง Coaglation Factor II ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการแข็งตัวของเลือด
    • การกลายพันธุ์ของยีน Prothrombin พบได้ 1 – 5% ของประชากร ผู้ที่มีความผิดปกติดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก และมีความเสี่ยงในการแท้งบุตร
    • ภาวะบกพร่องโปรตีน C และ S สารต้านการแข็งตัวตามธรรมชาติทำหน้าที่ในการสลายการแข็งตัวของเลือด พบประมาณ 1% ของประชากร
    • ภาวะบกพร่อง Antithrombin สารต้านการทำงานของเอนไซม์ในกระบวนการการจับลิ่มของเลือด พบน้อยมากในประชากร 1 ต่อ 500 คน

นอกจากนี้ ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการแอนติฟอสโฟลิปิด (APS) โรคตับอักเสบ HIV โรคอ้วน มะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน การสูบบุรี่จัด พฤติกรรมการนั่งหรือนอนอยู่กับที่เป็นเวลานาน หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ตำแหน่งที่พบการอุดตันของลิ่มเลือดได้บ่อย ได้แก่

    • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) สามารถเกิดได้ทุกส่วนในร่างกาย แต่จะพบมากที่บริเวณขา ซึ่งจะมีอาการขาโต บวม กดเจ็บ หรือเดินแล้วมีอาการปวดบวม หากรักษาไม่ทันลิ่มเลือดที่ขาอาจหลุดลอยไปอุดที่ปอด จะทำให้เกิดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันในปอดและเสียชีวิตได้
    • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism: PE) เป็นภาวะเสี่ยงที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้สูงถึง 12% ภายในหนึ่งเดือน จะมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตตก SpO2 ลดต่ำลง และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วยในกรณีเฉียบพลัน

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านโภชนาการก็เป็นสิ่งสำคัญ การบริโภคอย่างไม่สมดุลและเกินความจำเป็น ส่งผลทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ตามมา แนวทางการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันมักจะมุ่งเน้นไปที่กลไกการสลายลิ่มเลือด การให้ยาละลายลิ่มเลือด นอกจากนี้ การรับประทานผักผลไม้ อาหารไขมันต่ำ รวมถึงพริก หอม และกระเทียม รวมทั้งการเพิ่มปริมาณไขมันดี HDL ในร่างกาย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้เช่นกัน

โดยสรุป ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย พบมากในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน การป้องกันอาจไม่สามารถทำได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี ไม่ให้มีโรคประจำตัว เลือกรับประทานอาหารจากแหล่งไขมันดี หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด ยาคุมกำเนิด ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้ง การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติในร่างกาย การตรวจคัดกรองและการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยลดการเจ็บป่วยและป้องกันการเสียชีวิตได้

ที่มารูป : michiganmedicine